บันทึกการเรียนรู้ สัปดาห์ที่ 1


รายวิชา การจัดการระบบงานเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (MECTS) เป็นการศึกษาระบบงานทั้งหมดเพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการภายในองค์กร
การประเมินผลการเรียน (อิงเกณฑ์)
1)    การเข้าเรียน                        10%  Þ   ขาด 1 ครั้ง หัก 1 คะแนน
Þ   การลาแบบมีใบลาจะไม่นับเป็นขาด แต่ถ้าลา 2 ครั้งจะนับเป็นขาด 1 ครั้ง)
2)    คะแนนเก็บ                         15%  Þ   การบ้าน แบบฝึกหัด บล็อค และงานกลุ่ม
3)    สอบข้อเขียน                        20%  Þ   สอบกลางภาค
4)    รายงาน กรณีศึกษาและนำเสนอ   30%  Þ   รูปเล่มรายงาน 15 คะแนน
Þ     นำเสนอ 15 คะแนน
- ความน่าสนใจ
- เทคนิคและเครื่องมือที่ใช้
- ความสนใจและความร่วมมือของเพื่อนในห้อง
- สรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ลง BLOG (ทั้งของตนเองและเพื่อน)
รายละเอียดงาน
1)    อ่านบทความวิจัยเกี่ยวกับการจัดการทางเทคโนโลยี และเขียนรายงานสรุปแนวคิด หลักการให้เห็นภาพในภาษาของตนเอง พร้อมทั้งเขียนอ้างอิง โดยจัด
Þ บทความภาษาไทย                5        เรื่อง
Þ บทความภาษาอังกฤษ            3        เรื่อง
2)    เลือกบทความจากข้อ 1) ภาษาไทย 1 เรื่อง และภาษาอังกฤษ 1 เรื่อง มาพูดคุยแลกเปลี่ยนในห้องเรียน (โดยต้องจัดทำเอกสารให้เพื่อนอ่านเพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน)
3)    สร้าง WEB  BLOG ของตนเอง โดยดูตัวอย่างการใส่รายละเอียดข้อมูลได้ใน sutithep.blogspot.com/p/link.html
4)    ศึกษาค้นคว้าทฤษฎีที่ชื่นชอบ (ทฤษฎีเกี่ยวกับการจัดการ และองค์กรทางเทคโนโลยีนำไปใช้) ไม่น้อยกว่า 3 ทฤษฎีต่อคน
5)    ศึกษาดูงาน ในสถานที่หรือองค์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เช่น TK PARK หอสมุดแห่งชาติ ฯลฯ

ร่วมกันสรุปและเสนอแนวคิดเพิ่มเติม
          จากเอกสาร  “เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ โดยศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์”
เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ จะกล่าวใน 2 ประเด็น คือ
             (1) องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
             (2) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง
             ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ครอบคลุมศัพท์เฉพาะศาสตร์ โครงสร้างเนื้อหาสาระและวิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 5)
             1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Nomenclatures) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีศัพท์เฉพาะศาสตร์ที่ครอบคลุมศัพท์ด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรม วิธีการ การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้ และการประเมิน ศัพท์เหล่านี้บางส่วนก็ใช้ร่วมกับสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ บางส่วนก็บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ

             2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (Structure of Content) หรือขอบข่ายงานเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีโครงสร้างเนื้อหาสาระที่จำเป็น 3 มิติ คือ
 

             2.1 ขอบข่ายด้านสาระของเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หรือขอบข่ายตามแนวตั้ง ครอบคลุม 7 ขอบข่าย ได้แก่ (1) การจัดระบบและออกแบบระบบ (2) พฤติกรรม (3) วิธีการ (4) การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) (5) สภาพแวดล้อม (6) การจัดการเรียนรู้ (7) การประเมิน
(1) การจัดระบบและออกแบบระบบ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- การจัดระบบ (Systems Approach) เป็นการวางแผนการพัฒนาระบบใหม่หรือปรับปรุงระบบที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
- การพัฒนาระบบ (Systems Development) เป็นการสร้างระบบขึ้นมาใหม่หรือเป็นการปรับปรุงระบบที่มีอยู่แล้วให้ทำงานได้ดีขึ้น
- การออกแบบระบบ (Systems Design) เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสังเคราะห์ระบบและการสร้างแบบจำลองระบบที่เกี่ยวข้องกับการนำองค์ประกอบมาจัดเรียงลำดับให้อยู่ในขั้นตอนที่เหมาะสม
(2) พฤติกรรมเป็นการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขณะจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
(3) วิธีการครอบคลุมทั้งวิธีการศึกษาค้นคว้าโดยทั่วไปและวิธีการจัดการเรียนการสอน
(4) การสื่อสาร ครอบคลุมการสื่อสารการศึกษาและการสื่อสารการสอน ซึ่งมักใช้โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์ เป็นสื่อช่วยในการสื่อสาร
(5) สภาพแวดล้อม ครอบคลุมประเภทและการจัดการ โดยประเภทอาจจำแนกเป็นสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ และสภาพแวดล้อมทางสังคม
(6) การจัดการเรียนรู้ ครอบคลุม การจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอน โดยมุ่งที่การจัดหาและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
(7) การประเมิน ครอบคลุม การประเมินที่ครบวงจร คือ การประเมินปัจจัยนำเข้า การประเมินกระบวนการ และการประเมินผล ทั้งที่เป็นการประเมินในวงกว้าง คือ การประเมินการศึกษา และในวงแคบ คือ การประเมินการเรียนการสอน
             2.2 ขอบข่ายด้านภารกิจ หรือขอบข่ายตามแนวนอน เป็นมิติภารกิจที่นำเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาไปใช้ในการสนับสนุนสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ภารกิจ ได้แก่ (1) ด้านบริหาร (2) ด้านวิชาการ (3) ด้านบริการ
(1) ด้านบริหาร เป็นเครื่องมือในการจัดระบบการบริหารการกำหนดพฤติกรรมการบริหาร วิธีการบริหาร การสื่อสารในองค์กร การจัดสภาพแวดล้อมด้านการบริหาร การจัดการ และการประเมินการบริหาร
(2) ด้านวิชาการ เป็นเครื่องมือในการจัดระบบงานทางวิชาการ อาทิ การพัฒนาหลักสูตร การผลิตงานทางวิชาการ ฯลฯ
(3) ด้านบริการ เป็นเครื่องมือในการจัดระบบงานบริหาร การกำหนดพฤติกรรมการบริการ วิธีการบริการ การสื่อสารในการให้บริการ การจัดสภาพแวดล้อมด้านการบริการ การจัดการด้านการให้บริการ และการประเมินการบริการ
             2.3 ขอบข่ายตามรูปแบบการจัดการศึกษา หรือขอบข่ายตามแนวลึก เป็นมิติทางรูปแบบการศึกษาที่นำเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษา โดยมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ (1) การศึกษาในระบบโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยระบบการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา (2) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (3) การฝึกอบรม (4) การศึกษาทางไกล
             3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (Mode of Inquiries) เป็นวิธีการที่ใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อขยายพรมแดนแห่งความรู้ด้านนี้ให้เพิ่มพูนขึ้น
             ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงเกณฑ์กำหนดวิชาชีพชั้นสูง มี 8 ประการ กล่าวคือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 6-7)
             1) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามีลักษณะบริการที่เด่นชัด การบริการของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุม
·       การให้บริการด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ เช่น บริการจัดระบบการเรียนการสอน การออกแบบการสอน เป็นต้น
·       การกำหนดลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
·       พัฒนาและคิดค้นวิธีการทางการศึกษาและการเรียนการสอน
·       การกำหนดรูปแบบการสื่อสาร (การส่ง การปรุงแต่งสาร ช่องทางและสื่อ และการรับสาร
·       การให้บริการด้านการจัดสภาพแวดล้อมการศึกษา (ในห้องเรียน เช่น การจัดมุมวิชาการ การจัดห้องเรียน ฯลฯ นอกห้องเรียน เช่น ศูนย์วิทยบริการ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ ฯลน)
·       การเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอน อาทิ การจัดการเกี่ยวกับนักเรียน สื่อการสอน
·       การบริการด้านการวัดและการประเมิน (ในเมืองไทยปัจจุบันจะอยู่ในความดูแลของนักวัดผล แต่ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ จะอยู่ในความดูแลของนักเทคโนโลยีการศึกษา)
             2) การใช้กระบวนการทางสติปัญญา เป็นการใช้กระบวนการคิด ใคร่ครวญที่มีระเบียบระบบในการให้บริการ มิใช่เพียงการออกแรงกายเท่านั้น แม้บ่อยครั้งนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจจะต้องใช้แรงงาน ก็เพียงเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มิใช่รอแรงงานจากฝ่ายอื่น แล้วนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นฝ่ายชี้มองให้คนอื่นออกแรงเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างการใช้กระบวนการคิดอย่างมีระบบของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เช่น “KEMP MODEL”





รูปแบบการสอนของ Jerrold Kemp (1994)
        เจอโนลด์ เคมป์ ได้พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการสอนขึ้นในปี ค.ศ. 1994 ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งพิจารณาจากองค์ประกอบเกี่ยวกับการเรียนการสอนในบทเรียนที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ ปรกอบด้วยขั้นตอนหลัก 3 ระดับ ซึ่งแบ่งออกเป็น 10 ขั้นตอนย่อย โดยพิจารณาจากวงรีส่วนในออกมาสู่ส่วนนอก ดังนี้
         (1)   ระดับในสุด ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ดังนี้
1.  ปัญหาการเรียนการสอน (Instructional Problems) เป็นการกำหนดปัญหาการเรียนการสอน เพื่อนำไปพิจารณาออกแบบและพัฒนาบทเรียน
2. คุณสมบัติของผู้เรียน (Learner Characteristics) เป็นการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เรียนที่จะเป็นผู้ใช้บทเรียนหรือระบบการสอนที่พัฒนาขึ้น
3. การวิเคราะห์งานหรือภารกิจ (Task Analysis) เป็นการวิเคราะห์งานที่ผู้เรียนจะต้องแสดงออกในรูปของการกระทำที่วัดได้หรือสังเกตไดหลังจบบทเรียน
4. วัตถุประสงค์การเรียนการสอน (Instructional Objectives) เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของบทเรียน
5. การเรียงลำดับเนื้อหา (Content Sequencing) เป็นการกำหนดความสำคัญของเนื้อหา โดยเรียงลำดับตามหลักประสบการณ์การเรียนรู้
6. กลยุทธ์การเรียนการสอน (Instructional Strategies) เป็นการกำหนดกลยุทธ์การเรียนการสอน เพื่อนำเสนอบทเรียนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. การนำส่งการเรียนการสอน (Instructional Delivery) เป็นการพิจารณาและเลือกวิธีการนำส่งบทเรียนไปยังผู้เรียน ได้แก่ นำเสนอเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเล็ก และนำเสนอเป็นรายบุคคล
8. เครื่องมือวัดผลการเรียนการสอน (Instructional Instruments) เป็นการออกแบบเครื่องมือวัดผล เพื่อใช้สำหรับประเมินผลผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้
9. แหล่งทรัพยากรการเรียนการสอน (Instructional Resources) เป็นการพิจารณาเลือกสื่อการเรียนการสอนจากแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ
         (2)   ระดับที่สอง ประกอบด้วย ขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขบทเรียน (Revision) และขั้นตอนการประเมินผลระหว่างดำเนินการ (Formative Evaluation)
         (3)   ระดับนอกสุด ประกอบด้วย สิ่งสนับสนุนบริการ (Support Services) การบริหารโครงการ (Project Management) และการประเมินผลสรุป (Summative Evaluation)
             3) การมีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หมายถึง การที่นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ในการให้บริการในวิชาชีพของตนอย่างเป็นอิสระ กล่าวคือ มีอำนาจในการวางแผน เตรียมการดำเนินการและประเมินผลงานของตนเอง และสามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในสายงานครบวงจรจากต่ำไปถึงสูงในกรอบแห่งกฎระเบียบและจรรยาบรรณในวิชาชีพ
             4) การมีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาเด่นชัด ผู้ที่จะมาเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จะต้องผ่านการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ หรือมีประสบการณ์ที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น หลักสูตรการศึกษาอบรมมักมีจำนวนหน่วยกิตที่จะศึกษาและมีจำนวนปีที่จะศึกษาแน่นอน เช่น หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา 2 ปี สำหรับผู้สำเร็จอนุปริญญาหรือปริญญาตรีมาแล้ว นอกจากนี้ นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (นับถึงปี พ.ศ.2538 มีสถาบันที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาโทในเมืองไทยประมาณ 12 สถาบัน และปริญญาเอก 2 สถาบัน)
             5) การเข้ารับการฝึกงานหรือรับประสบการณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม เมื่อเรียนวิชาครบตามกำหนดไว้ในหลักสูตรแล้ว นักศึกษาจะต้องเข้าฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ณ สถานที่และในเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีโอกาสฝึกการนำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง
             6) การมีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่ผ่านการศึกษาอบรมแล้ว ก็จะได้รับปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือวุฒิบัตรที่มีฐานะเทียบเท่าในบางประเทศ ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจต้องได้รับใบอนุญาต (Credential/License) ก่อนที่จะประกอบวิชาชีพ สำหรับในเมืองไทย การได้รับปริญญาบัตรนับเป็นใบอนุญาตไปในตัว
             7) การมีจรรยาวิชาชีพเป็นกรอบกำหนดความประพฤติ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเอารัดเอาเปรียบหรือทำความเดือดร้อนให้ตนเองหรือผู้อื่นและก้าวล้ำสิทธิวิชาชีพอื่น ในประเทศไทย นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาส่วนใหญ่เป็นครูจึงอยู่ในการควบคุมของจรรยาวิชาชีพครู เมื่อมีสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นแล้ว สมาคมนี้
ก็อาจจะกำหนดจรรยาวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
             8) การมีองค์กรหรือสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา องค์กรดังกล่าวจะมีหน้าที่กำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและส่งเสริมคุณภาพของสมาชิกที่เป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อให้มีองค์ความรู้เพิ่มพูนและแนวปฏิบัติในการบริการมีประสิทธิภาพ
             สรุปได้ว่า เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวไว้มี 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุมด้าน (1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (nomenclatures) ได้แก่ การจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรมวิธีการ การสื่อสาร สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้และการประเมิน (2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (structure of content) ที่จำเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านสาระ มิติด้านภาระกิจ และมิติด้านรูปแบบการศึกษา (3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (mode of inquiries) เป็นวิธีการใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้น
             ประเด็นที่สอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง เป็นการกล่าวถึงเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูง 8 ประการ คือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพคำกล่าวในประเด็นสอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูงมีการกำหนดเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงไว้ครอบคลุมคุณลักษณะตามองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีการศึกษา สามารถนำเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางเทคโนโลยีการศึกษาต่อไป
ข้อมูลที่ควรศึกษาเพิ่มเติม
1. ISD: Instructional System Design
2. พ.ร.บ. การศึกษา และ พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
3. ศัพท์ราชบัณฑิตสถาน เช่น Instructional ปกติเรามักจะใช้คำว่า การเรียนการสอน แต่ในราชบัณฑิตแปลคำนี้ไว้ว่า การสอน
4. CAI: บทเรียนคอมพิวเตอร์
งานของสัปดาห์นี้
1. ความแตกต่างของคำต่อไปนี้
      โสตทัศนศึกษา                  คอมพิวเตอร์ศึกษา                         เทคโนโลยีสารสนเทศ
      เทคโนโลยีการศึกษา           เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
2. ศึกษา “KEMP MODEL
3. ศึกษา “ทฤษฎีทางการบริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี” ว่าเป็นของใคร ใช้อย่างไร 1 ทฤษฎี/คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น